ตั้งแต่ปีการศึกษา 2513 เป็นต้นมา ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ได้เปิดสอนเฉพาะหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) วิชาเอกวิทยาศาสตร์ - ฟิสิกส์ มีนักศึกษา ทั้งภาคปกติและสมทบ ต่อมาในปีการศึกษา 2535 ทางภาควิชาฟิสิกส์ได้มีความพร้อมมากขึ้น ทั้งในด้านคณาจารย์ และบุคลากรสนับสนุน ตลอดจนวัสดุครุภัณฑ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน ทางภาควิชาฟิสิกส์ ได้เปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาฟิสิกส์ อีกหลักสูตรหนึ่ง หลังจากที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ. 2536 และได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ มีชื่อใหม่เป็น "มหาวิทยาลัยทักษิณ" เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 ตุลาคม 2539 ทางภาควิชาฟิสิกส์ ในนามมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการพัฒนาและมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเปิดสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตฟิสิกส์ (วท.บ.) สาขาวิชาประยุกต์ - พลังงาน และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.) สาขาวิชาฟิสิกส์ ในปีการศึกษา 2547 พร้อมกันสองหลักสูตร


        ในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปลี่ยนสถานะภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร จากภาควิชาฟิสิกส์เดิมมาเป็นสาขาวิชาฟิสิกส์ ในปัจจุบัน ได้แบ่งการจัดการศึกษาออกเป็น 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตพัทลุง และวิทยาเขตสงขลา ตามพันธะกิจ ดังนี้

       
         วิทยาเขตพัทลุงมีพันธะกิจหลักในการผลิตบัณฑิตหลักสูตรทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่

                   วท.บ. (ฟิสิกส์)

                   วท.ม. (ฟิสิกส์) และ

                   วท.บ. (เทคโนโลยีและการจัดการพลังงาน)

         
         วิทยาเขตสงขลามีพันธะกิจหลักในการผลิตบัณฑิตทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ – ฟิสิกส์ โดยความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ เน้นการผลิตครูทางวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการและการพัฒนาประเทศในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ หลักสูตร

                   กศ.บ. (วิทยาศาสตร์ – ฟิสิกส์)

         ใน ปี พ.ศ. 2565 ปัจจุบันการที่ประเทศไทยจะแข่งขันในสังคมโลกได้นั้นต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมของตนเองและการเป็นผู้ประกอบการ ทางสาขาวิชาฟิสิกส์ได้ออกแบบหลักสูตรใหม่ให้ผู้เรียนพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถสร้างนวัตกรรมด้านวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์ในชุมชน นั้นคือ หลักสูตร 

                   วท.บ. (ฟิสิกส์วัสดุและนาโนเทคโนโลยี)